เทรนด์การออกแบบสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง ที่น่าจับตามองในปี 2025
ในปี 2025 การออกแบบทางสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง ต้องมีการปรับตัวในหลากหลายมิติ เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง ของเทคโนโลยีที่อัจฉริยะมากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยในด้านสิ่งแวดล้อม และความต้องการของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในยุคที่ความสวยงามทางกายภาพสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งจากการสร้างรูปภาพสามมิติจำลองที่เหนือจินตนาการ (จาก AI) และการก้าวข้ามขีดจำกัดของวัสดุตกแต่งต่างๆ ที่ตอบโจทย์ในการออกแบบได้มากขึ้น รวมถึงปัจจัยในด้านอื่นๆ ที่ยังคงมีความสำคัญ อย่างแนวคิดของความยั่งยืน ความปลอดภัยต่อการใช้งาน ผ่านการผสมผสานนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ในการออกแบบและก่อสร้างเเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับชีวิตยุคใหม่ รวมไปถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อภาวะการขาดแคลนแรงงาน ความรุนแรงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อรูปแบบและการกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้าง ทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ ต้องถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดของแต่ละโครงการ และเป็นตัวชี้วัดถึงแนวทางของการออกแบบสถาปัตยกรรมในอนาคตต่อไป
และต่อจากนี้คือเทรนด์ของการออกแบบทางสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างในปีหน้า ที่กำลังจะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต
ความยั่งยืนที่มากกว่าแค่คาร์บอนเป็นศูนย์
หัวข้อของ ‘ความยั่งยืน’ เป็นแนวทางที่ถูกผลักดันให้ทุกคนในสังคมร่วมกันปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ที่ไม่เพียงแค่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังรวมถึงการสร้างอาคารและพื้นที่ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมโดยรวม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อสังคมได้ด้วย เช่น การออกแบบที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของชุมชน ส่งเสริมพื้นที่สาธารณะเพื่อการพบปะ สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างกิจกรรมร่วมกันเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน หรือการออกแบบที่เน้นการประหยัดพลังงาน เช่น การใช้แสงจากธรรมชาติ การระบายอากาศที่ดี การสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยลดอุณหภูมิในเขตเมือง การใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติการเป็นฉนวนความร้อนที่ดี หรือการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น การเลือกใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้หรือวัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติ อย่างแผ่นกระเบื้องดินเผา Terratex จาก FAMELINE ที่ผลิตจากดินเหนียวธรรมชาติ 100% สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ ช่วยลดของเสียที่ไม่จำเป็นในกระบวนการก่อสร้าง มีความทนทานด้วยอายุการใช้งานนานถึง 100 ปี และด้วยพื้นผิวที่มีรูพรุน เป็นการช่วยดูดซับและปรับระดับความชื้นของผนังได้อย่างเหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงในการสะสมตัวของเชื้อโรค สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับทั้งร่างกายและจิตใจ และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมได้ในทุกกระบวนการใช้งาน
รวมไปถึงแนวคิดของการออกแบบที่เชื่อมโยงผู้ใช้งานกับธรรมชาติ (Biophilic Design) เช่น การเปิดรับแสงธรรมชาติ การเพิ่มบรรยากาศของพื้นที่สีเขียว การสร้างระบบการไหลเวียนอากาศแบบธรรมชาติ หรือวัสดุทดแทนที่มีลวดลายธรรมชาติเสมือนจริง อย่างระแนงอลูมิเนียมลายไม้หรือฝ้าเพดานลายไม้ เพื่อลดการทำลายธรรมชาติ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เพื่อการใช้งานที่คงทนกว่าในระยะยาว
ปัญญาประดิษฐ์ในการออกแบบและก่อสร้าง
ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) กำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ทั้งความช่วยเหลือในด้านความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ และการช่วยบริหารขั้นตอนในการก่อสร้าง ทั้งในมุมของโครงสร้าง วัสดุ และระบบการทำงานของอาคาร ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ของการทำงาน โดยใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ข้อมูลของเครื่องจักร หุ่นยนต์ โดรน และระบบปฏิบัติการอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนด้วย AI รวมไปถึงการปรับปรุงความปลอดภัย เพิ่มผลผลิต ปรับให้งานเป็นระบบอัตโนมัติ และช่วยให้การตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้หุ่นยนต์ AI ในการก่ออิฐแทนมนุษย์ ซึ่งสามารถทำงานได้เร็วกว่าถึงสามเท่า ทำให้งานเสร็จตรงตามกำหนดเวลา ปลอดภัยกว่าการใช้แรงงาน และสามารถตรวจสอบมาตรฐานของงานได้อย่างชัดเจน ซึ่งระบบอัตโนมัติถูกมองว่าตอบโจทย์ได้มากกว่า สำหรับปัญหาที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงาน และทักษะที่จำเป็นสำหรับงานก่อสร้างเชิงเทคนิค ซึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับเครื่องจักร ผ่านระบบ Internet of Things (IoT) ที่ควบคุมการทำงานขององค์ประกอบในอาคารได้ด้วย
ตัวอย่างเช่น แผงกันแดดอลูมิเนียมอัจฉริยะ (Moveable Sun Shading) ที่สามารถปรับองศาของแผ่น ให้อยู่ในมุมมองที่เหมาะสมได้ตามการใช้งาน ผ่านอุปกรณ์ควบคุมทางแอพพลิเคชั่นในมือถือ หรือสั่งงานด้วยระบบเสียง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในด้านการใช้งาน
หรือการใช้ส่งต่อข้อมูลการก่อสร้างไปยังเจ้าของโครงการ ผู้บริหารโครงการ และผู้รับเหมาโครงการอย่างอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับรู้ข้อมูล และตัดสินใจจากพื้นฐานข้อมูลเดียวกัน เหมือนกับการออกแบบด้วยระบบ BIM (Building Information Modeling) ที่ช่วยให้สถาปนิกสร้างแบบจำลองข้อมูลของโครงการ ซึ่งสามารถนำมาใช้วิเคราะห์วัสดุที่เหมาะสม คำนวณโครงสร้าง วางแผนงานระบบ ประมาณราคา รวมถึงคำนวนระบบการไหลเวียนของอากาศภายในอาคาร ค่าการประหยัดพลังงาน ระบบการจัดการน้ำ รวมไปถึงขั้นตอนการจัดซื้อ และประเมินความเสี่ยงของโครงการ เพื่อลดข้อผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ สามารถควบคุมงบประมาณและระยะเวลาทำงานได้ดียิ่งขึ้น
จินตนาการที่เป็นจริงได้อย่างรวดเร็วและคุ้มค่า
การพัฒนาการก่อสร้างของอาคารในยุคใหม่ ต้องตอบสนองต่อความคุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจ และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างการก่อสร้างแบบโมดูลาร์ (Modular Construction) ซึ่งเป็นการผลิตชิ้นส่วนอาคารในโรงงานและนำมาประกอบในพื้นที่จริง ช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้างได้ถึง 30-50% และลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างลงได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับการก่อสร้างแบบดั้งเดิม
ซึ่งมีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการก่อสร้างสถานพยาบาลในเมืองอู่ฮั่น ที่สร้างเสร็จภายในระยะเวลาเพียงสิบวัน แสดงให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรในการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรื้อถอนและขนส่งหน่วยโมดูลาร์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับวัสดุสำเร็จรูป (Prefabricated Building Materials) ที่ผลิตขึ้นมาตามรูปแบบและจำนวนที่ใช้งานจริง ซึ่งผ่านการออกแบบและทดสอบมาตรฐานในการใช้งานทุกครั้ง
ตัวอย่างเช่น วัสดุ Aluminium Honeycomb Panel หรือ AHP ซึ่งเป็นวัสดุนวัตกรรมใหม่ ด้วยรูปแบบของอลูมิเนียมสองแผ่นประกบกับไส้กลางโครงสร้างรังผึ้ง (Honeybomb) ที่กระจายน้ำหนักได้อย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งแผ่น ทำให้ทนทานต่อการโค้งงอ แรงบิด และแรงกระแทกได้ดี สามารถนำมาออกแบบตัวแผ่นให้มีขนาดใหญ่พิเศษ ด้วยรูปแบบที่หลากหลายได้มากกว่า สอดคล้องไปกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ของคนใน Generation Alpha ซึ่งเติบโตมากับเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีความคาดหวังในเรื่องรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อนแต่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น ความสะดวกสบายในการใช้พื้นที่ และการผสมผสานเทคโนโลยีในการใช้ชีวิตที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แหล่งอ้างอิง:
- https://www.rib-software.com/en/blogs/construction-industry-trends
- https://gsourcedata.com/5-architectural-trends-that-will-redefine-urban-living-in-2025-urban-architecture-trends/
- https://www.seasonsincolour.com/post/top-10-construction-trends-to-watch
- https://housedearch.com/architecture-trends-of-2025/
สามารถดูข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่นี่:
Terratex: https://online.anyflip.com/wbgdd/cypv/
Moveable Sun Shading: https://online.anyflip.com/wbgdd/dqlz/
Aluminium Honeycomb Panel: https://online.anyflip.com/wbgdd/lkss/
สามารถติดตามช่องทางอื่นๆ ได้ที่นี่:
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง