‘ปัญญาประดิษฐ์’ และ ‘สถาปัตยกรรม’ อนาคตที่เหนือกว่าจินตนาการ
คำว่า ‘Artificial Intelligence’ (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ นั้นมีมานานกว่า 60 ปีแล้ว โดย John McCarthy นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน หรือที่รู้จักกันในนาม “บิดาแห่ง AI” เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ขึ้นมาในปี 1950 ซึ่งเขาเป็นผู้นำกลุ่มนักวิจัยทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อเจาะลึกระบบการเรียนรู้ด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับการประมวลผลสมการและทฤษฎีบท
ต่อมาในปี 1960 นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เริ่มต้นการสร้างเครื่องจักรที่คล้ายกับหุ่นยนต์ จนในปี 1972 หุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ตัวแรก ได้ถูกสร้างขึ้นมาในญี่ปุ่น แต่น่าเสียดายที่ยังเป็นเรื่องยากสำหรับนักวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาระบบให้ไปได้ไกลกว่านี้ เนื่องจากขาดความก้าวหน้าทางข้อมูลเทคโนโลยี จนมาถึงช่วงกลางปี 1990 ระบบคอมพิวเตอร์มีการพัฒนามากขึ้น ความสามารถด้านเทคโนโลยีและ AI พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเทคโนโลยีอัจฉริยะสามารถปฏิวัติการทำงานของอุตสาหกรรมต่างๆ ได้หลากหลายมากขึ้น และสถาปัตยกรรมก็กำลังมุ่งสู่การปรับโฉมใหม่โดยใช้เทคโนโลยีนี้เช่นกัน
จนในปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่แปลงข้อความเป็นภาพ AI ได้แล้ว เช่น Midjourney, DALL-E และ Stable Diffusion ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงขั้นตอนการสร้าง และแนวคิดในการออกแบบอาคารหรือผลิตภัณฑ์ โดยบริษัทเทคโนโลยี เรียกระบบการทำงานแบบนี้ว่า ‘โครงข่ายประสาทเทียม’ ที่แปลงข้อความให้เป็นภาพในจินตนาการที่ดูสมจริงจนน่าขนลุก จนกลายเป็นกระแสฮือฮาทางอินเทอร์เน็ต และนำไปสู่การถกเถียงกันว่า พวกมันจะส่งผลต่ออนาคตของการออกแบบและสถาปัตยกรรมได้อย่างไร?

บทบาทของ AI กับงานออกแบบ
Bill Cusick ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบริษัท Stability AI ซึ่งได้เปิดตัวซอฟต์แวร์แปลงข้อความเป็นรูปภาพชื่อ Stable Diffusion และ DreamStudio และเขายังมีประสบการณ์ในการทำงานกับซอฟต์แวร์ของบริษัทสร้างภาพเสมือนยอดนิยมอย่าง Midjourney ได้กล่าวไว้ว่า “ซอฟต์แวร์คือรากฐานสำหรับอนาคต ของความคิดสร้างสรรค์ ผมเห็นความขี้เล่นในการออกแบบ ซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อน ในแง่ของการออกแบบสถาปัตยกรรมและการเรนเดอร์”
การทำงานของมัน คล้ายกับการสเก็ตช์ภาพของสถาปนิกลงบนกระดาษ ซึ่งภาพจาก AI มักมีสีสันที่เหมือนกับอยู่ในความฝัน โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรายละเอียดของงานก่อสร้าง “เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายของการสเก็ตช์ มันไม่ได้หมายความว่าต้องแม่นยำขนาดนั้น เพราะมันคือการจับภาพวิสัยทัศน์ของโครงการได้อย่างรวดเร็ว”
“ปัจจุบัน เราเห็นนักออกแบบและมืออาชีพทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ใช้ AI เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างแนวคิดต่างๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป AI จะกลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการออกแบบโดยรวม” Manas Bhatia ดีไซเนอร์ชาวอินเดียและผู้ใช้ Midjourney กล่าว
แม้ว่าระบบ AI จะประมวลผลจากข้อความเพื่อสร้างภาพในจินตนาการ แต่ระบบดังกล่าวยังไม่เข้าใจภาษาเหมือนมนุษย์ โดยมักจะเน้นที่คำนามและคำคุณศัพท์ หรืออาจเกิดบริบทที่สามารถเข้าใจผิดได้ ดังนั้น การเลือกใช้คำที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่า “ซอฟต์แวร์นี้เป็นเครื่องมือที่ต้องการมนุษย์ในการทำงาน” Bhatia ผู้สร้างงานศิลปะเชิงแนวคิดกล่าว “ลักษณะของความเป็นสามมิติ กับความสัมพันธ์ต่อผู้ใช้งานและสภาพแวดล้อม เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งขึ้นสำหรับ AI เพราะว่ามันไม่สามารถรับรู้ถึงความแตกต่าง ของการโต้ตอบกับผู้ใช้งานแบบไดนามิกของโลกจริง ซึ่งการมีอยู่จริงของสิ่งมีชีวิตมีผลต่อความคิดของมัน” แต่การออกแบบด้วย AI ก็กำลังพัฒนา เพื่อเข้าใกล้หลักการนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

แนวโน้มที่ดี แต่อาจมีอคติ
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง ของการใช้งานเทคโนโลยีเปลี่ยนข้อความเป็นรูปภาพก็คือ แนวโน้มของการใช้รูปภาพเดิมที่มีอยู่เพื่อสร้างภาพใหม่ขึ้นมา ซึ่งรูปแบบของสถาปัตยกรรมบางอย่างมีการใช้ซ้ำมากเกินไป เหมือนกับนักออกแบบที่เอนเอียงความสนใจ ไปที่สไตล์ใดสไตล์หนึ่งเพียงอย่างเดียวและไม่สนใจผู้อื่น “เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ตัวซอฟต์แวร์นั้นมีข้อมูลเพียงพอ เพื่อไม่ให้มีข้อมูลที่ถูกส่งกลับมา กลายเป็นข้อมูลเดิมแบบซ้ำๆ ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์มีความก้าวหน้ามากขึ้นในทุกๆ ครั้ง” Bill Cusick กล่าว
แต่ถึงอย่างนั้น นักออกแบบอย่าง Bhatia ก็เชื่อว่า เทคโนโลยีสามารถเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้ โดยการแสดงอาคารที่มีลักษณะตามธรรมชาติอย่างแท้จริง เช่น อาคารจากรูปทรงของต้นไม้ หรือสถานีรถไปที่เกิดจากภูเขาทั้งลูก เพราะว่า AI นั้นสามารถเก็บรายละเอียดในระดับสูงได้ดีกว่า โดยเขากล่าวว่า “แนวคิดคือ การทำให้ผู้คนนึกถึงอนาคต ที่สถาปัตยกรรมอยู่ร่วมกับธรรมชาติ”
ซึ่งนักออกแบบบางคนอาจกังวลเกี่ยวกับ AI ที่จะมาแทนที่แรงงานมนุษย์ เนื่องจากจุดประสงค์ของ AI คือการสร้างเครื่องจักรหรือโปรแกรม ที่สามารถกำหนดทิศทางและเรียนรู้การทำงานได้เอง แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า AI มีศักยภาพในการทำให้สถาปัตยกรรมง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปลอดภัยยิ่งขึ้น เนื่องจากคอมพิวเตอร์นั่น มีความชำนาญในการแก้ปัญหาด้วยคำตอบที่ชัดเจน สามารถวิเคราะห์ข้อมูล และทำงานซ้ำๆ ได้ เพื่อให้มนุษย์มีเวลามากขึ้นในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่


สถาปัตยกรรมจากเทคโนโลยีอัจฉริยะ
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการใช้งาน AI กับการออกแบบงานสถาปัตยกรรมก็คือ การทำให้ประสิทธิภาพของอาคารที่ดีขึ้น ผ่านการคำนวณและการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม เช่น ข้อมูลอุณหภูมิ สภาพอากาศ หรือการเลือกใช้งานวัสดุให้เหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยีอัจฉริยะจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับการออกแบบ รวมถึงการทำงานร่วมกับ AR (Augmented Reality) ซึ่งทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์เสมือนจริง ในการเข้าถึงงานสถาปัตยกรรม ตั้งแต่ความสวยงาม สีสัน ไปจนถึงเสียง
รวมไปถึงในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งแต่เดิมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีน้อยที่สุด (แต่มีแรงงานถึง 7 เปอร์เซ็นต์ จากทั่วโลก อยู่ในอุตสาหกรรมนี้) ซึ่งเมื่อมีการควบรวม AI เข้ากับการก่อสร้าง จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้งานร่วมกับเครื่องจักรก่อสร้างอัตโนมัติ และระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถวิเคราะห์ไซต์งาน ระบุปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สร้างความปลอดภัยและร่นระยะเวลาการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
หรือในระดับต่อไป AI จะสามารถออกแบบอาคาร ที่ผสมผสานกับการสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยพิจารณาจากวิธีที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม และความรู้สึกของพวกเขาในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรม เป็นเรื่องของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะที่ความต้องการของมนุษย์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้งาน AI ก็พร้อมที่จะยกระดับความสำเร็จทางสถาปัตยกรรมของมนุษยชาติไปอีกขั้นด้วยเช่นกัน

ส่วนนักออกแบบที่กำลังมองหาทีมงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นตัวช่วยในการให้คำปรึกษา และร่วมกันพัฒนางานออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถตอบสนองต่อความต้องการ และจินตนาการในด้านการออกแบบด้วยบริการแบบมืออาชีพ ทาง FAMELINE ก็มีทีมสาถาปนิกจาก ‘Customized Design Team’ (CDT) หรือ ฝ่ายโครงการออกแบบพิเศษ ซึ่งทำหน้าที่ค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ ของวัสดุหรือการก่อสร้าง เพื่อนำมาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับงานออกแบบ ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์การออกแบบในยุคแห่งอนาคต
เมื่อแนวคิดของการออกแบบ ถูกต่อยอดและทำงานโดยทีมที่มีประสบการณ์ ร่วมกับเครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้มีการสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ของงานสถาปัตยกรรม ดังนั้น การทำงานของ ‘Customized Design Team’ จึงเสมือนการก้าวข้ามทุกข้อจำกัดของงานออกแบบ และสามารถเชื่อมั่นได้ว่า ผลงานที่ออกมานั้น ผ่านการดูแลเอาใจใส่เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด และมีคุณภาพที่ “เหนือกว่ามาตรฐาน” ได้อย่างแท้จริง
ขอขอบคุณข้อมูล / รูปภาพ จาก:
- www.dezeen.com
- www.aiplusinfo.com
- https://blog.dormakaba.com
สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์: http://m.me/famelinegroup
ติดตามข้อมูลผลิตภัณฑ์: https://lin.ee/gXR26yi
บทความที่เกี่ยวข้อง
เปลี่ยนโฉม โดดเด่น เน้นใช้งาน… ทำไมถึงต้องรีโนเวทฟาซาดอาคาร?
นักออกแบบมักจะใช้วิธีการปรับปรุง/ต่อเติมพื้นที่ส่วนฟาซาด เพื่อแก้ปัญหาหรือเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคาร แต่เงื่อนไขของแต่ละอาคารนั้นย่อมต่างกันออกไป จึงทำให้เกิดคำถามที่ว่า เราควรปรับปรุงฟาซาดอาคารบ่อยแค่ไหน …แล้วทำไมเราถึงต้องรีโนเวทฟาซาดอาคาร?
‘Aluminium Louver’ เคล็ด(ไม่)ลับกับการออกแบบ แผงบังแดด/ระแนงตกแต่ง
การตกแต่งบริเวณผิวอาคาร ให้มีการระบายอากาศได้ตามธรรมชาติ เสมือนให้อาคารได้ ‘หายใจ’ โดยการเลือกตกแต่งด้วย ‘แผงบังแดด’ หรือ ‘ระแนงตกแต่ง’ ซึ่งเป็นทางเลือกที่เรียบง่าย แต่ทรงพลังอย่างมากในด้านการใช้งาน
ทำความรู้จัก Chat GPT กับการปรับตัวของ(มนุษย์)สถาปนิก
การเปิดตัวแชทบอทใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงอย่าง ChatGPT เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากวงการนักออกแบบและสถาปนิก ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า AI ประเภทนี้ จะส่งผลต่อวิชาชีพสถาปัตยกรรมในอนาคตได้อย่างไรบ้าง?
ออกแบบ ‘วัสดุตกแต่งฝ้า’ ให้ตอบโจทย์กับพื้นที่ใช้งานและความสวยงาม
เมื่อพูดถึงการออกแบบอาคารหรือบ้านพักอาศัย ‘ฝ้าเพดาน’ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญ ที่ส่งผลต่อความสวยงามโดยรวม และส่งผลต่อการใช้งานของพื้นที่เป็นอย่างมาก ซึ่งนักออกแบบต้องมองหาวัสดุที่สามารถตอบโจทย์ ปัจจัยสำคัญในการออกแบบฝ้าเพดานได้อย่างครบถ้วน
เจาะลึกวัสดุ ‘Aluminium Honeycomb Panel’ น้ำหนักเบากว่า… แต่ทำไมยังแข็งแรงและทนทาน
ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมากขึ้น พื้นที่ส่วนต่างๆ ของอาคารจึงได้รับการพัฒนา เพื่อให้มีรูปแบบที่ซับซ้อน และมีเอกลักษณ์ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว โดยเฉพาะกับวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มอาคาร
ทำไมวัสดุ ‘อลูมิเนียม’ จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ในการใช้ปกป้องผิวอาคาร
จากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้วัสดุ ‘อลูมิเนียม’ เป็นหนึ่งในวัสดุที่ถูกใช้งานมากที่สุด โดยเฉพาะกับในอุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็น ‘วัสดุปิดผิวอาคาร’ ที่สามารถออกแบบได้อย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยคุณสมบัติที่เหนือกว่า