Sustainable Building Renovationเคล็ดลับการปรับปรุงอาคารใหม่ ให้สวยงามและยั่งยืน

ความหมายของคำว่า ‘Building Renovation’ คือการปรับปรุงอาคารให้กลับมามีสภาพดีเหมือนเดิม (หรือแตกต่างจากเดิม) ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซ่มส่วนที่มีความเสียหาย การรื้อถอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป การต่อเติมพื้นที่บางส่วนเพิ่มเข้ามา เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของคนในอาคารมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุด หลังจากที่เราปรับปรุงอาคารใหม่แล้วก็คือ จะต้องปลุกอาคารให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

เนื่องมาจากสภาพความเสื่อมโทรมของอาคารเดิม ที่เกิดจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งสภาพอากาศของพื้นที่ตั้งอาคาร บรรยากาศของสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ลักษณะการใช้งานของคนในอาคาร ซึ่งส่งผลให้ภาพลักษณ์ของอาคารนั้นย่ำแย่ลง ผู้ที่เข้ามาใช้งานภายในอาคารก็รู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัย หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของโครงการ ก็อาจมีการปรับปรุงอาคารเพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม

ซึ่งจากสาเหตุทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าสิ่งที่เจ้าของโครงการจะได้รับ หลังจากที่ปรับปรุงอาคารใหม่ ก็คือความสวยงามและการใช้งานที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น แต่ก็ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่ควรพิจารณาก่อนการตัดสินใจปรับปรุงอาคาร เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการได้อย่างยั่งยืน

เข้าใจวัตถุประสงค์ของการปรับปรุง

การปรับปรุงอาคารเดิมนั้น ย่อมมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าการสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ เนื่องจากต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างของอาคารเดิม ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการออกแบบมากขึ้น นักออกแบบจึงต้องทำความเข้าใจเรื่องของ ‘วัตถุประสงค์’ ก่อนการเริ่มปรับปรุงครั้งนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน

ตัวอย่างเช่น อาคารสำนักงานที่ต้องการเปลี่ยนการใช้งานของพื้นที่ภายใน จากห้องปิดทึบให้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์แบบเปิดโล่งสำหรับนั่งทำงาน ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนผนังภายในให้เหมาะสม และเพิ่มช่องเปิดให้มากขึ้น เพื่อรับแสงธรรมชาติจากภายนอก เป็นการเพิ่มความรู้สึกกระตือรือร้นในการทำงาน

หรือหากต้องการการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาคารเก่าให้ดูทันสมัยมากขึ้น ซึ่งหากพิจารณาจากโครงสร้างเดิม ที่มีการเสื่อมโทรมตามระยะเวลาที่ใช้งานแล้ว ก็มักเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา มาออกแบบในลักษณะเป็น Double Skin Façade ซึ่งมีทั้งรูปแบบปิดทึบ ระแนง ครีบ รวมถึงการฉลุลวดลายลงบนแผ่นวัสดุ เป็นการเพิ่มมุมมองทางด้านความสวยงาม สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับอาคาร และยังช่วยปกป้องอาคารจากความร้อนและแสงแดดได้อีกด้วย

ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

แม้งบประมาณจะเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก สำหรับโครงการปรับปรุงอาคารทุกประเภท แต่หากการปรับปรุงนั้น ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานทุกคนได้ ก็คงเป็นการปรับปรุงที่คุ้มค่า ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจาก ‘การเลือกใช้วัสดุและการวางแผนการก่อสร้าง’ นั่นเอง

การเลือกใช้วัสดุสำหรับการปรับปรุงอาคาร จริงๆ แล้วก็สามารถเลือกใช้งานได้หลากหลาย คล้ายกับการเลือกใช้วัสดุกับงานสร้างใหม่ ทั้งวัสดุอลูมิเนียม กระจก เหล็ก หรือวัสดุทดแทนธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งนอกจากเรื่องน้ำหนักของวัสดุแล้ว รูปแบบและกระบวนการติดตั้ง ก็มีผลในการก่อสร้าง ที่ต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การตรวจเช็คสภาพอาคารเดิม ออกแบบ ขนส่ง ติดตั้ง รวมถึงแผนการดูแลรักษา เนื่องจากบางวัสดุที่ต้องติดตั้งร่วมกับโครงสร้างเดิม ก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

 

ตัวอย่างเช่น หากเป็นการปรับปรุงอาคารขนาดใหญ่ด้วยวัสดุตกแต่งฟาซาด การเลือกใช้วัสดุที่สามารถติดตั้งด้วยแผ่นที่มีขนาดใหญ่ อย่าง Aluminium Honeycomb Panel ซึ่งสามารถออกแบบได้ยาวต่อเนื่องกันแบบไร้รอยต่อ มีความแข็งแรงทนทาน ใช้งานได้ทุกสภาพอากาศ มีน้ำหนักที่เบาช่วยลดภาระโครงสร้างเดิม บำรุงรักษาได้ง่าย และมีการติดตั้งที่ได้มาตรฐานทั้งกับอาคารสร้างใหม่ หรือส่วนต่อเติม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ในการปรับปรุงผนังหรือโครงสร้างของอาคารเดิม ที่อาจเกิดการเสื่อมสภาพได้ในอนาคต

นอกจากเรื่องของขนาดแล้ว เรื่องมาตรฐานการป้องกันอาคารในด้านต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญ ตัวอย่างเช่น มาตรฐานการป้องกันการลามไฟของเนื้อวัสดุ ซึ่งเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับโครงสร้างของอาคารเดิม และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานในอาคารได้มากยิ่งขึ้น

ลดการใช้พลังงานเพื่อความยั่งยืน

เมื่อทรัพยากรธรรมชาติในโลกมีอยู่อย่างจำกัด การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ โดยลดการใช้ทรัพยากรที่เกินจำเป็น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมอยู่คู่กับโลกได้อย่างยั่งยืน เพราะในบางครั้งการก่อร้างอาคาร ก็เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสิ่งแว้ดล้อม เช่น การตัดไม้ทำลายป่าและระเบิดภูเขาเพื่อนำมาทำวัสดุก่อสร้าง รวมถึงการปล่อยอากาศเสีย น้ำเสีย หรือมลพิษ ในกระบวนการผลิตและขั้นตอนการก่อสร้าง เป็นต้น

ซึ่งในการออกแบบสถาปัตยกรรมให้มีความยั่งยืน (Sustainable Architecture) จะต้องเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของธรรมชาติควบคู่กันไป โดยการใช้เทคโนโลยีในการก่อสร้าง ต้องกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้น้อยที่สุด และที่สำคัญคือต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ต่อผู้ใช้งานอาคาร ทั้งในยุคปัจจุบันและในอนาคตต่อไป

ซึ่งการปรับปรุงอาคารก็สามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยการออกแบบที่ช่วยลดการใช้พลังงานของอาคารลง ตัวอย่างเช่น การออกแบบฟาซาดอาคาร ให้ช่วยบดบังแสงแดดในทิศตะวันตกและทิศใต้ ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่ระหว่างผนัง ทำให้อากาศถ่ายเท ลดการสะสมความร้อนบนผนัง ทำให้อุณหภูมิของพื้นที่ภายในลดลง ช่วยลดการใช้พลังงานของระบบปรับอากาศ หรือการออกแบบช่องเปิดให้สัมพันธ์กับการใช้งานภายใน โดยให้แสงจากธรรมชาติ เข้ามาทดแทนพลังงานของระบบไฟส่องสว่างภายในอาคาร

หรือการเลือกใช้วัสดุสังเคราะห์ ทดแทนการใช้วัสดุจากธรรมชาติจริงๆ ก็มีส่วนช่วยให้เกิดความยั่งยืนได้ เช่น การเลือกใช้วัสดุอลูมิเนียมลายไม้ ในการตกแต่งพื้นที่ภายในอาคาร เป็นการสร้างบรรยากาศให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้วัสดุไม้จริง (ซึ่งบางครั้งอาจเกิดปัญหามากกว่า) หรือการเลือกใช้วัสดุตกแต่งฝ้า ที่มีคุณสมบัติช่วยลดเสียงสะท้อน ในบริเวณห้องประชุมหรือห้องสัมมนา ก็จะทำให้การสื่อสารภายในอาคารมีคุณภาพ ส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีของผู้ใช้งานในอาคารได้ด้วย

รวมไปถึงการลดขั้นตอนในการประกอบวัสดุต่างๆ ของกระบวนการก่อสร้างที่หน้างาน ก็เป็นการช่วยลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ลดจำนวนแรงงาน และกระบวนการขนส่ง ซึ่งการเลือกใช้วัสดุที่ผลิตแบบสำเร็จรูปจากโรงงาน สามารถนำมาประกอบที่หน้างานได้อย่างรวดเร็ว นอกจากช่วยลดการใช้ทรัพยากรแล้ว ยังสามารถควบคุมคุณภาพของการก่อสร้างได้ดี มีการวางแผนงานที่ชัดเจนในทุกขั้นตอน และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกินจำเป็นให้กับเจ้าของโครงการได้อีกด้วย

เมื่ออาคารที่เปลี่ยนโฉมใหม่ มีการเลือกใช้งานวัสดุและมีการออกแบบที่เหมาะสม สามารถส่งผลดีต่อทั้งเจ้าของโครงการ ผู้ใช้งานในอาคาร และสภาพแวดล้อมโดยรอบ จึงจะเกิดเป็นความยั่งยืน ที่ทำให้อาคารมีมูลค่าสูงขึ้น ทั้งมูลค่าทางด้านความสวยงาม โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และมูลค่าทางด้านจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ที่เข้ามาใช้งานแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลต่อความคุ้มค่าในระยะยาว หรือจนกว่าจะมีการปรับปรุงอาคารอีกครั้งนั่นเอง

สอบถามข้อมูลวัสดุ: http://m.me/famelinegroup

ติดตามข้อมูลวัสดุ: https://lin.ee/gXR26yi

บทความที่เกี่ยวข้อง

Article

แดดร้อน ฝนตก ลมแรง ทำไมสภาพภูมิอากาศจึงมีความสำคัญต่อผิวอาคาร

เมื่อ ‘สภาพอากาศที่รุนแรง’ เป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ของโลก ที่ส่งผลกระทบไปถึงอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

Article

‘Aluminium Honeycomb Panel’ กับวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมขนส่ง

แผ่นอลูมิเนียมที่มีโครงสร้างแบบรังผึ้ง ทำให้มีน้ำหนักเบากว่าวัสดุอื่นๆ จึงเหมาะสมกับการใช้งานในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง รวมไปถึงอุตสาหกรรมการขนส่งต่างๆ

Article

‘ประโยชน์ใช้สอยมาก่อนรูปแบบ’ กับแนวคิดการเลือกใช้งานบานเกล็ดอลูมิเนียม

“Form Follow Function” หรือ “ประโยชน์ใช้สอยย่อมมาก่อนรูปแบบ” เป็นแนวคิดในการออกแบบที่มองว่าความงามของสถาปัตยกรรม ควรมาจากประโยชน์ใช้สอย

Article

ทำความรู้จักกับ ‘ระบบการเคลือบสี’ ที่ช่วยเสริมความคงทนบนแผ่นอลูมิเนียม

สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการใช้งานวัสดุอลูมิเนียมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นการเสริมความคงทนให้ตัวแผ่นมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ก็คือการเลือกใช้ ‘ระบบเคลือบสี’

Article

เปลี่ยนโฉม โดดเด่น เน้นใช้งาน… ทำไมถึงต้องรีโนเวทฟาซาดอาคาร?

นักออกแบบมักจะใช้วิธีการปรับปรุง/ต่อเติมพื้นที่ส่วนฟาซาด เพื่อแก้ปัญหาหรือเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคาร…

Article

‘Aluminium Louver’ เคล็ด(ไม่)ลับกับการออกแบบ แผงบังแดด/ระแนงตกแต่ง

การตกแต่งบริเวณผิวอาคาร ให้มีการระบายอากาศได้ตามธรรมชาติ เสมือนให้อาคารได้ ‘หายใจ’…