พลังของ แสงและเงา ในงานสถาปัตยกรรม

“สถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบที่ประกอบขึ้นมาจากแสง มันไม่มีอะไรจะจริงไปกว่านี้อีกแล้ว แสงช่วยส่องสว่าง และส่งเสริมบางสิ่งเสมอ ดวงตาของเรานั้นถูกสร้างมาเพื่อให้มองเห็นรูปร่างในแสง แสงและเงาเผยให้เห็นคุณค่าในงานสถาปัตยกรรม” – Le Corbusier (1920)

 ‘แสงและเงา’ มีหน้าที่กำหนดคุณค่าของสถาปัตยกรรม แสงที่กระจ่างชัดเจนแสดงออกถึงพื้นที่ใช้งานที่เด่นชัด ในขณะที่เงาซึ่งทอดลงมา ก็ดึงดูดความน่าสนใจให้พื้นที่ภายในได้ดี ซึ่งทั้งแสงและเงานั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างสรรค์พื้นที่ใช้งานให้มีความสะดวกสบาย สนุกสนาน ตื่นตัว เงียบขรึม น่าค้นหา หรือหลากหลายอารมณ์ที่สื่อสารผ่านการออกแบบแสงในงานสถาปัตยกรรม

เนื่องจากแสงและเงานั้น ไม่เพียงให้ทัศนวิสัยที่เหมาะสมกับงานสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังสื่อสารถึงมาตรฐานของระดับความสว่าง (ลักซ์) ที่แนะนำ สำหรับงานออกแบบประเภทต่างๆ นำไปสู่ความเข้าใจเชิงปริมาณของแสงและพื้นที่การใช้งาน ซึ่งถือว่าแสงเป็นหนึ่งในภาษาของนักออกแบบ ที่ใช้ต้อนรับผู้ใช้งานผ่านสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ

‘แสง’ สื่อสารความหมายถึงอะไร?

จากมุมมองเชิงสัญศาสตร์ (semiotics หรือสิ่งแทนความ) เราสามารถกำหนดให้แสงเป็นหน่วยข้อมูลที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะในพื้นที่ได้ เช่น หากเข้าไปในห้องที่มีขนาดพื้นที่เท่ากัน ที่มีการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ให้เหมือนกัน แต่ถ้าถูกจัดแต่งแสงให้มีความสว่างหรือสีสันที่ต่างกันออกไป เราก็อาจมีพฤติกรรมของตัวเอง ที่แสดงออกในพื้นที่นั้นซึ่งต่างออกไปเช่นกัน

ผลกระทบของแสงและเงาที่มีเอกลักษณ์แบบพิเศษนั้น สร้างความน่าสนใจให้กับองค์ประกอบที่เราต้องการเล่าเรื่องได้ เช่น สภาพแวดล้อมภายในร้านค้าปลีก พื้นที่ให้บริการต่างๆ หรือการออกแบบไฟสุดโฉบเฉี่ยวบนหน้าสื่อด้วยเทคโนโลยีของ LED ซึ่งการระบุองค์ประกอบของแสงส่งผลต่อบริบททางสถาปัตยกรรม การเปรียบเทียบลักษณะของแสง เช่น แสงจากโคมไฟหรือแสงธรรมชาติ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจลำดับชั้น (Layer) ของแสง ให้มีการออกแบบที่สอดคล้องกัน หรือออกแบบเพื่อสร้างมุมมองที่แปลกใหม่ ตัวอย่างเช่น การออกแบบแสงให้กระจายและส่องสว่างโดยตรง ถือได้ว่าเป็นภาษาในการสื่อสารถึงบรรยากาศอันนุ่มนวล หรือการทำลายมุมมองด้านการมองเห็น ในร้านที่ไม่มีช่องแสงเลย ช่วยสร้างความรู้สึกลึกลับผิดปกติผ่านความมืดของเงา อย่างไรก็ตาม การใช้สัญศาสตร์เน้นไปที่คุณภาพของการออกแบบแสง การพิจารณาความหมายของแสงและเงาในกระบวนการออกแบบ จะนำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืนมากขึ้นผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของการมองเห็น

‘แสง’ กับความลับของ เงา

‘Louis Kahn’ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์แห่งการใช้แสงในงานสถาปัตยกรรม เขาถือว่าแสงเป็น “ผู้ให้สำหรับทุกสิ่งอย่าง” ซึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่า “เพราะวัสดุทั้งหมดในธรรมชาติ ภูเขา ลำธาร และอากาศ ล้วนเกิดขึ้นได้จากแสง มวลที่อยู่ตรงจุดนี้เรียกว่าวัตถุ วัตถุทำให้เกิดเงา และเงานั้นเป็นของแสง”

จากคำกล่าวนี้ ทำให้เรารู้ว่าแสงเป็นตัวสร้างวัสดุ และจุดประสงค์ของวัสดุคือการทำให้เกิดเงา และเงาดำก็เป็นส่วนหนึ่งของแสงโดยธรรมชาติ “เราควรอ่านผังของอาคารให้เหมือนความกลมกลืน ของพื้นที่ว่างในแสงสว่าง แม้แต่พื้นที่ที่ตั้งใจจะมืดก็ควรมีแสงสว่างเพียงพอจากช่องเปิดต่างๆ แต่ละพื้นที่จะต้องถูกกำหนดโดยโครงสร้างและลักษณะของแสงแบบธรรมชาติ” เขาจึงมุ่งความสนใจไปที่ผลกระทบของแสงทั้งหมด ไม่ใช่แค่เพียงจากต้นกำเนิดที่เราสร้างขึ้นเท่านั้น “แม้แต่ห้องที่ต้องมืดมิด ก็ยังต้องมีแสงส่องถึง เพื่ออย่างน้อยก็รู้ว่ามันมืดมิดแค่ไหน” เขากล่าวต่อ

“ความลึกลับของเงา” ยังเชื่อมโยงกับความเงียบและความกลัว ในขณะที่ความมืดทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการมองไม่เห็น หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจอย่างลึกลับได้ด้วย เราไม่ได้ออกแบบอาคารเพียงเพื่อปกป้องผู้ใช้งานจากแสงแดด แต่เพื่อปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของเงา พื้นที่ภายนอกเป็นของดวงอาทิตย์ แต่พื้นที่ภายในเป็นของผู้คนและการใช้งาน

ซึ่ง ‘เงา’ ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่ง สำหรับการตกแต่งพื้นที่ภายในได้เช่นกัน เมื่อเราเคลื่อนตัวออกห่างจากแหล่งกำเนิดแสงมากขึ้น แสงจะค่อยๆ หรี่ลง แต่เงาจะชัดลึกขึ้น การไล่ระดับที่ยอดเยี่ยมระหว่างทั้งสองทำให้ทั้งห้องเกิดความงามขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเดินขึ้นไปบนบ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม จะสังเกตเห็นชายคาขนาดใหญ่ยื่นออกไปด้านนอก เพื่อทำหน้าที่เก็บแสงโดยตรงไว้สำหรับการตกแต่งภายใน แสงที่เข้ามาในบ้านจะเป็นแสงที่สะท้อนจากวัตถุภายนอก

ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรม Juhani Pallasmaa ได้เขียนในบทความ Dwelling in Light ของเขาไว้ว่า “เงามีความสำคัญเนื่องจากพวกมันจำกัดการมีอยู่ของแสง มันกำหนดความลึกและความคมชัดของการมองเห็น สิ่งนี้ตอบสนองความต้องการความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย แต่ยังช่วยเพิ่มความรู้สึกอ่อนไหวด้านความสวยงามได้ด้วยกัน”

‘แสง’ กับความสวยงามในงานออกแบบ

สำหรับเจ้าของบ้าน การออกแบบที่เริ่มจากทางเข้าห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องนอน แต่ละห้องจะมีระดับแสงที่แตกต่างกันออกไป รูปแบบของแสงสอดคล้องกับการใช้งานของห้อง และไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน รวมถึงการใช้เงาผ่านเอฟเฟกต์การตกแต่งบนพื้นและผนังของแต่ละพื้นที่ แสงทางอ้อมยังเป็นการสะท้อนจากแสงธรรมชาติ หรือแสงประดิษฐ์จากวัตถุเพื่อสร้างลวดลายบนพื้นผิว รูปแบบที่เราต้องการสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกแบบอาคารได้ “แสงแดดไม่เคยรู้ว่ามันยิ่งใหญ่เพียงใด จนกระทั่งมันกระทบกับด้านข้างของอาคาร หรือส่องสว่างเข้ามาภายในห้อง” Louis Kahn เสริม

นักออกแบบจึงต้องกำหนดแนวความคิด เกี่ยวกับพื้นที่ของบ้านหรืออาคาร ให้สอดคล้องกับการทำงานตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ การออกแบบและการเลือกใช้วัสดุ สามารถส่งผลต่อความรู้สึกของเรา เมื่อเราก้าวเข้าไปในพื้นที่อย่างห้องน้ำหรือห้องนอน ในตอนเช้าหรือตอนเย็น ซึ่งให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน การออกแบบที่ดี ต้องใส่ใจในการสร้างประสบการณ์ และความละเอียดอ่อนของพื้นที่สว่างและมืดอยู่เสมอ

‘แสง’ กับการเลือกใช้งานวัสดุ

เพื่อให้มีการควบคุมปริมาณของแสงที่เข้ามาในตัวอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นักออกแบบอาจเลือกใช้งานเป็นแผงบานเกล็ดอลูมิเนียม หรือ ‘Architectural Louvers’ ซึ่งมีลักษณะบานเกล็ดที่หลากหลายอย่าง แผงบังแดด (Sun Louvers) บานเกล็ดระบายอากาศ (Ventilation Louvers) หรือระแนงตกแต่ง (Open Decorative Louvers) ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมของพื้นที่ใช้งาน สามารถปรับองศาให้สอดคล้องกับมุมตกกระทบจากแสงแดดภายนอก ซึ่งเป็นรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการส่งต่อแสงและเงาให้กับพื้นที่ภายใน

ส่วนการกรองแสงที่เข้ามาในพื้นที่ภายใน สำหรับงานอาคารนั่นมีตัวเลือกที่หลากหลาย อย่างการใช้วัสดุแผ่นอลูมิเนียม ทั้ง Solid Aluminium Cladding และ Aluminium Composite Panel (ACP) มาฉลุเป็นลวดลายต่างๆ (Perforated) ลดความสว่างที่เข้ามาในพื้นที่ภายใน และยังได้รูปแบบที่น่าสนใจ สร้างความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ให้กับเปลือกอาคารภายนอก (Façade) หรือหากเป็นอาคารขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่เปลือกอาคารมาก ก็นิยมเลือกใช้เป็น ‘ครีบอาคาร’ (FIN) ที่มีลักษณะเป็นระแนงขนาดใหญ่ จัดวางอย่างเป็นระบบโดยมีระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่ภายในอาคาร ซึ่งต้องเป็นวัสดุที่มีขนาดแผ่นใหญ่ มีน้ำหนักเบา และมีความทนทานอย่าง Aluminium Honeycomb Panel (AHP) ซึ่งเป็นนวัตกรรมในกลุ่ม Composite Panel โดยการนำแผ่นอลูมิเนียมมาประกบกันแบบแซนวิช โดยมีไส้กลางเป็นโครงสร้างแบบรังผึ้ง ทำให้เกิดแสงและเงาที่เป็นจังหวะที่เหมาะสมกับสัดส่วนของตัวอาคาร

แม้ว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีจะสามารถประดิษฐ์ดวงไฟ ที่สร้างสรรค์รูปแบบของแสงได้หลากหลายเพียงใด  แต่แสงธรรมชาติที่มีความแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา ให้ความหมายต่อความรู้สึกของมนุษย์เราอยู่เสมอ สถาปัตยกรรมเองก็ต้องทำงานร่วมกับแสงในมิติต่างๆ จนอาจกล่าวได้ว่า การเลือกวัสดุหรือโครงสร้างของสถาปัตยกรรม คือการตัดสินใจเพื่อตอบสนองแก่แสงธรรมชาติ และบริบทของสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นนั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:

  • antonialoweinteriors.com
  • www.houzz.com
  • www.archdaily.com
  • ooiio.com

สอบถามข้อมูลวัสดุ: http://m.me/famelinegroup

ติดตามข้อมูลวัสดุ: https://lin.ee/gXR26yi

บทความที่เกี่ยวข้อง

Article

ความแตกต่างระหว่างไส้กลาง Polyethylene (PE) และไส้กลาง Fire Retardant (FR) กับการเลือกใช้วัสดุ Aluminium Honeycomb Panel

แผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิต หรือการนำแผ่นอลูมิเนียมมาประกบกันคล้ายแซนวิช โดยมีแกนกลางเป็นวัสดุ โพลิเอทิลีน (Polyethylene – PE) หรือสารหน่วงไฟ (Fire Retardant – FR) ซึ่งวัสดุแกนกลางแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติเฉพาะ ที่ตอบสนองความต้องการในการก่อสร้าง และการพิจารณาด้านความปลอดภัยที่แตกต่างกัน

Article

‘Prefabricated Construction’ ก่อสร้างเสร็จ และสำเร็จ(รูป)ได้มากกว่า

‘Prefabricated Construction’ หรือการก่อสร้างสำเร็จรูป เป็นวิธีการก่อสร้างที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น จากกระบวนการที่ใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในโรงงาน จากนั้นจึงขนส่งวัสดุมาประกอบที่หน้าไซต์งาน

Article

ออกแบบ ‘Double Space’ อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวัสดุ ‘Mega+ Ceiling’

การเพิ่มพื้นที่เป็นเท่าตัวในระยะแนวตั้ง หรือที่เรียกว่า ‘Double Space’ (หรือ Double Volume) ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้ ก็ต้องมีการเลือกใช้งานวัสดุที่เหมาะสม

Article

‘Smart Architecture’ การอยู่อาศัยที่ยั่งยืน จากสถาปัตยกรรมสุดสมาร์ท

เมื่อเรามองถึงอนาคตของสถาปัตยกรรม แน่นอนว่าต้องมีเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่พร้อมจะปฏิวัติวงการนี้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้สถาปนิกทำงานได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และนำไปสู่การอยู่อาศัยที่ยั่งยืน

Article

ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ ด้วยวัสดุ ‘อลูมิเนียมเจาะรู’

หากต้องการสร้างความแตกต่าง และโดดเด่นยิ่งกว่าเดิม ก็ต้องเป็นลักษณะของการเจาะรูหรือฉลุลวดลาย ลงบนผิวของแผ่นอลูมิเนียม ด้วยรูปแบบของ Aluminium Solid Perforated

Article

‘ถ่อมตนแต่มีบุคลิกที่ชัดเจน’ กับก้าวต่อไปของวัสดุในงานสถาปัตยกรรม

เทรนด์การเลือกใช้วัสดุสำหรับงานออกแบบนั้น จะต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งาน ที่เน้นการสร้างพื้นที่ส่วนบุคคลที่มีบุคลิกชัดเจน แต่ก็ต้องมีพื้นที่สำหรับความรู้สึกเชื่อมโยง และกลับสู่ความเป็นชุมชนอีกครั้ง