‘อลูมิเนียม’ ใช้งานเป็นอะไรได้บ้าง ในงานสถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ผ่านแนวคิดของนวัตกรรม การเลือกใช้วัสดุ และเทคนิคในการก่อสร้าง ที่อยู่บนรากฐานของความยั่งยืน โดยเฉพาะในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรที่ลดน้อยลง และการขยายตัวของเมือง สถาปนิกและนักออกแบบต่างมองหาวัสดุที่ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการด้านความสวยงามและการใช้งานเท่านั้น แต่ต้องมีส่วนช่วยในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นด้วย
ซึ่งในการแสวงหาทางออกที่ยั่งยืนนี้ วัสดุ ‘อลูมิเนียม’ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญ จากการเป็นวัสดุโลหะอเนกประสงค์ ที่ใช้สำหรับห่อฟอยล์และกระป๋องโซดา จนกลายมาเป็นวัสดุที่ผู้คนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการสถาปัตยกรรมยุคใหม่ ซึ่งใน ปัจุบัน 25% ของอลูมิเนียมทั้งหมดที่ผลิตจากทั่วโลก ใช้สำหรับงานก่อสร้าง เนื่องด้วยคุณสมบัติของความเบา ความแข็งแรงทนทาน สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ และด้วยรูปทรงที่แสนเรียบง่าย แต่ก็ประยุกต์ใช้กับการใช้กับงานออกแบบได้หลากหลาย ที่ลดข้อจำกัดจากวัสดุไม้ คอนกรีต พลาสติก หรือเหล็กลงไปได้ นำไปสู่การออกแบบโครงสร้างที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นองค์ประกอบของอาคารประหยัดพลังงาน เพื่อสร้างภูมิทัศน์ของเมืองที่ยั่งยืน
เริ่มเปิดตัวในวงการก่อสร้าง
ในช่วงศตวรรษที่ 19 อลูมิเนียมถือเป็นโลหะที่มีค่าและหายาก (ยิ่งกว่าทองคำ) ทำให้มีราคาแพงเกินไป และผลิตได้ไม่เพียงพอสำหรับใช้กับงานก่อสร้าง จนในปี 1886 กระบวนการที่เรียกว่า Hall-Héroult ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อให้สามารถสกัดอลูมิเนียมได้อย่างคุ้มค่า ทำให้อลูมิเนียมเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และปูทางไปสู่การใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ จนมาถึงปี 1920 เมื่อกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส สามารถลดต้นทุนอลูมิเนียมลงถึง 80% จึงทำให้เป็นที่นิยมมากขึ้น สำหรับการตกแต่งหลังคา ท่อระบายน้ำ และแผ่นผนัง ซึ่งอาคารแรกที่ใช้งานอลูมิเนียมอย่างชัดเจนที่สุด ก็คือตึก Empire State ซึ่งเป็นตึกระฟ้าชื่อดังในนิวยอร์ก ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1931 โดยอลูมิเนียมถูกนำมาใช้ในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของอาคารและงานตกแต่งภายใน
การใช้อลูมิเนียมในการก่อสร้างและสถาปัตยกรรม เริ่มชะลอตัวลงในช่วงปี 1940 เนื่องจากโลหะส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อผลิตเครื่องบิน จนในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 อลูมิเนียมกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการก่อสร้างอาคารสูงและสะพาน กรอบหน้าต่าง แผ่นผนัง หลังคาทรงโดม สถาปนิกอย่าง Ludwig Mies van der Rohe และ Le Corbusier ได้ผสมผสานอลูมิเนียมเข้ากับการออกแบบเพื่อให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและเรียบง่าย เนื่องจากความแข็งแรงเมื่อเทียบกับน้ำหนักที่น้อยกว่าวัสดุอื่นๆ โดยมีน้ำหนักเพียงสองในสามของเหล็ก และเพียงหนึ่งในเจ็ดเมื่อเทียบกับคอนกรีต ทำให้มีความเหมาะสมกับโครงสร้างอาคารขนาดใหญ่ จนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างเติบโตอย่างรวดเร็ว และอลูมิเนียมมีบทบาทสำคัญ ในการเป็นตัวเลือกสำหรับงานประตู-หน้าต่าง และส่วนฟาซาดของอาคาร ด้วยคุณสมบัติของน้ำหนักที่เบาและทนต่อการกัดกร่อนได้ดี
แข็งแกร่งแบบห่อหุ้มได้ทั้งอาคาร
วัสดุที่หุ้มทั้งผนังและหลังคาได้นั้น ไม่เพียงแต่ต้องแข็งแกร่งพอในการทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันภายนอกอาคารเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญ ในการกำหนดเอกลักษณ์เฉพาะและความสวยงามของอาคาร ซึ่งอลูมิเนียมสามารถทนทานต่อสภาพอากาศต่างๆ ทั้งฝนตกหนัก ลมแรง และอุณหภูมิที่สูงมาก เพื่อช่วยให้โครงสร้างมีอายุยืนยาว ทนทานต่อการสึกกร่อนและสนิม การบำรุงรักษาต่ำ และมีความยืดหยุ่นในการออกแบบ สามารถปรับแต่งรูปทรง ขนาด สี และพื้นผิวให้แตกต่างกันไป
ตัวอย่างเช่น วัสดุ Aluminium Composite Panel (ACP) มีไส้กลางเป็นวัสดุโพลีเอทิลีน (PE) ความหนาแน่นต่ำ ทำให้ตัวแผ่นมีความยืดหยุ่นสูง สามารถดัดแปลงรูปทรงของแผ่น ทั้งการดัดโค้ง ตัด บิด หรือเจาะรูบนผิวแผ่นอลูมิเนียม เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและยังทำหน้าที่ปกป้องอาคารได้อย่างแข็งแกร่ง
หรืออย่างวัสดุ Aluminium Honeycomb Panel (AHP) ที่มีไส้กลางเป็นอลูมิเนียมโครงสร้างแบบรังผึ้งหกเหลี่ยม ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างแผ่นมากขึ้น มีจุดเด่นในเรื่องของน้ำหนักที่เบา ทำให้ไม่เป็นภาระต่อโครงสร้างของอาคาร และยังได้ความแข็งแกร่งที่สม่ำเสมอกันทั่วทั้งผืน รวมถึงมีค่าการทนไฟถึงระดับ Class A2 ทำให้มีความเหมาะสมกับการใช้ห่อหุ้มอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารสูง เพื่อเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานในอาคาร
ส่วนลักษณะการปิดผิวอาคาร ที่ต้องการสร้างช่องเปิดในการระบายอากาศ แต่ก็ต้องการมุมมองที่ปิดทึบในบางส่วน ก็สามารถเลือกใช้งานเป็นบานเกล็ดอลูมิเนียม (Aluminum Louver) ที่มีให้เลือกถึง 3 รูปแบบ คือ กลุ่ม ‘Sun Louver’ ที่เป็นแผงบังแดดรูปทรงต่างๆ อย่าง AF-Series (รูปทรงปีกเครื่องบิน) C-Series (รูปตัวซี) และ Tube-Series (รูปทรงกล่อง), กลุ่ม Ventilation Louver ในรุ่น Z-Series หรือบานเกล็ดระบายอากาศรูปตัวแซด และกลุ่ม Decorative Louver หรือระแนงตกแต่ง ที่เน้นความหลากหลายของระแนงอลูมิเนียมทรงกล่อง ส่วนพื้นที่ของห้องเครื่องจักรกล ก็สามารถเลือกใช้งานเป็นรุ่น Performance Louver ที่มีลักษณะของแผ่นใบและช่องเปิด ที่ใช้ควบคุมการไหลเวียนของอากาศ ช่วยป้องกันเสียงรบกวน และลดการซึมผ่านของน้ำฝนได้ดี
ตกแต่งภายในได้อย่างโดดเด่นและปลอดภัย
วัสดุสำหรับงานตกแต่งภายใน ย่อมมีรายละเอียดและการใช้งานที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงวัสดุกลุ่มนี้ได้ง่ายกว่างานตกแต่งภายนอก อย่างการเลือกวัสดุตกแต่ง ‘ฝ้าเพดาน’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญ ที่นอกจากจะทำหน้าที่ปกปิดโครงสร้างและงานระบบด้านบนแล้ว ยังช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับพื้นที่ภายใน ช่วยปรับปรุงคุณภาพเสียง และเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดี
หนึ่งในวัสดุตกแต่งฝ้ายอดนิยมก็คือ ‘อลูมิเนียม’ ที่สามารถออกแบบขนาดและสัดส่วนของฝ้าเพดาน ให้มีขนาดใหญ่กว่าวัสดุอื่นๆ ด้วยน้ำหนักที่เบาและมีความแข็งแกร่งของแผ่นที่เสถียรมากกว่า อย่างฝ้าอลูมิเนียมรุ่น Mega+ Ceiling ซึ่งเหมาะสมกับการออกแบบห้องโถงขนาดใหญ่ ที่เน้นฝ้าแผ่นใหญ่แบบรอยต่อน้อย
หรือกับพื้นที่ที่เน้นความทันสมัย ก็ต้องเลือกใช้ฝ้าอลูมิเนียมแบบเส้น (Linear Ceiling) ซึ่งมีสัดส่วนของฝ้าเส้นแบบขอบมนและขอบเหลี่ยม ที่เหมาะสมสำหรับงานบ้านพักอาศัยใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร มีทั้งกลุ่มสีพื้นและสีลายไม้ ที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศของความผ่อนคลายแบบธรรมชาติ
หรือแผ่นฝ้าที่เหมาะสมกับการใช้งานภายในอาคารสำนักงาน ห้องประชุม ห้องโถง โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือสนามบิน ก็ต้องเป็นฝ้าในกลุ่ม Tile & Plank Ceiling หรือฝ้าแบบแผ่น ที่สามารถเปิด-ปิดได้ เพื่อขึ้นไปซ่อมบำรุงงานระบบด้านบน และสามารถทนทานต่อความชื้น หรือพื้นที่ที่ต้องการความสะอาดเป็นพิเศษ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรีย ทำหน้าที่เป็นแผ่นดูดซับเสียง ช่วยลดเสียงสะท้อนภายในอาคาร ด้วยคุณสมบัติการดูดซับเสียงได้สูงสุดถึง 80% เพิ่มคุณภาพในด้านการสื่อสารได้เป็นอย่างดี หรือฝ้าในกลุ่ม Open Decorative Ceiling ที่ใช้ตกแต่งเพื่อปกปิดงานระบบ ใช้ลวดลายของเส้นตรง ตะแกรง และตาราง เพื่อให้พื้นที่ด้านบนฝ้ายังได้รับการถ่ายเทอากาศที่ดี
ก้าวสู่การเป็นวัสดุแห่งอนาคต
จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งหมื่นล้านคน ซึ่งสองในสามของคนเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในเมืองหลัก ซึ่งหมายความว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงขึ้นเป็นพิเศษ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำ ดิน และทรัพยากรอื่นๆ จึงทำให้การพิจารณาวัสดุสำหรับงานออกแบบ ต้องมีส่วนในการช่วยลดการใช้ทรัพยากร และเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้งานได้อย่างยั่งยืน ซึ่งอย่างที่กล่าวไปว่าวัสดุอลูมิเนียมนั้น สามารถรีไซเคิลได้ 100% และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมาก จึงอาจกล่าวได้ว่า วัสดุชนิดนี้เป็นโลหะแห่งอนาคตก็ว่าได้
เห็นได้จากงานสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ในระดับสากล ที่เริ่มใช้งานวัสดุอลูมิเนียมกันมากขึ้น เช่น สวนสนุกขนาดใหญ่อย่าง ‘Ferrari World’ ในกรุงอาบูดาบี ที่มีหลังคาอลูมิเนียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่กว่า 200,000 ตารางเมตร ซึ่งอลูมิเนียมที่ใช้เป็นหลังคาก็เพียงพอที่จะสร้างรถเฟอร์รารี่ได้ถึง 16,750 คัน
หรืออย่างอาคาร ‘Sage Gateshead’ คอนเสิร์ตฮอลล์ในอังกฤษ ที่ออกแบบเป็นอาคารรูปทรงคล้ายคลื่นเสียง ก็ใช้งานเป็นโครงสร้างของอลูมิเนียม กระจก และเหล็กผสมกัน เช่นเดียวกับ ‘Dzintari’ คอนเสิร์ตฮอลล์ที่มีชื่อเสียงในลัตเวีย ก็ใช้งานหลังคาอลูมิเนียมที่เลื่อนเปิด-ปิดได้ หรือกับอาคารโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างสระว่ายน้ำในร่ม ที่ใช้สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2012 ที่ลอนดอน ก็ถูกปกคลุมไปด้วยอลูมิเนียมรูปคลื่นทะเลขนาดมหึมา ที่รองรับผู้เข้าชมได้ถึง 17,500 คน
ศักยภาพของอลูมิเนียมนั้น ยังถูกค้นคว้าและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการใช้งานเป็นวัสดุก่อสร้างในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยในด้านความยั่งยืนนั้นก็มีส่วนสำคัญ ที่จะสร้างความมั่นใจในการใช้งาน ให้กับทั้งผู้ผลิต ผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง และเจ้าของโครงการ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่ทำให้สามารถออกแบบรูปทรง และส่วนประกอบที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น นำไปสู่นวัตกรรมการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านพลังงานและเศรษฐกิจ ซึ่งต้องสอดคล้องกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน