ความแตกต่างระหว่างไส้กลาง Polyethylene (PE) และไส้กลาง Fire Retardant (FR) กับการเลือกใช้งานวัสดุ Aluminium Composite Panel
วัสดุที่มีบทบาทสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรมในยุคนี้ ต้องสร้างรูปลักษณ์ที่ดึงดูดสายตา มีความแข็งแรงทนทาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอาคาร ซึ่งหนึ่งในวัสดุอเนกประสงค์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็คือวัสดุ ‘อลูมิเนียมคอมโพสิต (Aluminium Composite Panel – ACP)’ หรือการนำแผ่นอลูมิเนียมมาประกบกันแบบแซนวิช โดยมีแกนกลางเป็นวัสดุที่ช่วยเสริมคุณสมบัติในด้านต่างๆ ซึ่งชั้นเหล่านี้จะยึดติดกันภายใต้ความดันและอุณหภูมิที่สูงด้วยกระบวนการเคลือบ ชั้นของอลูมิเนียมด้านนอกทำให้ตัวแผ่นมีความความแข็งแกร่งทนทานต่อสภาพอากาศ ขณะที่แกนกลางช่วยให้แผ่นมีน้ำหนักเบาและทำหน้าที่เป็นชั้นของฉนวนได้ดี
หนึ่งในคุณสมบัติที่โดดเด่นของ ACP คือความสวยงามที่สามารถปรับแต่งได้อย่างอิสระ ด้วยความหลากหลายของสี พื้นผิว และการปรับแต่งรูปลักษณ์ของแผ่น ทำให้ได้วัสดุตกแต่งที่มีรูปแบบของความโมเดิร์นทันสมัย ไปจนถึงลวดลายไม้หรือหินที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ทำให้นักออกแบบต่างชื่นชอบในความไร้ขีดจำกัด ที่เหมาะสมสำหรับเป็นวัสดุห่อหุ้มอาคาร เพื่อสร้างภาพลักษณ์อันโดดเด่น ซึ่งวัสดุหลักที่ใช้เป็นแกนกลางระหว่างชั้นของแผ่นอลูมิเนียมนั้น มีตัวเลือกหลักที่นิยมใช้งานกันก็คือ โพลิเอทิลีน (Polyethylene – PE) และสารหน่วงไฟ (Fire Retardant – FR) ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติเฉพาะ ที่ตอบสนองความต้องการในการก่อสร้าง และการพิจารณาเพื่อความปลอดภัยที่แตกต่างกัน
ประกบ ‘แกนโพลิเอทิลีน’ เพื่อเสริมความยืดหยุ่น
‘โพลิเอทิลีน’ (PE) เป็นโพลิเมอร์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเทอร์โมพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีการผลิตมากที่สุดในโลก เนื่องจากคุณสมบัติอันยืดหยุ่น ทำให้สามารถนำไปใช้งานที่หลากหลาย โดยจะแตกต่างกันตามน้ำหนักโมเลกุลและโครงสร้างของเอทิลีนที่แตกแขนงออกไป ประเภทที่พบมากที่สุด ได้แก่ โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ที่มีลักษณะเฉพาะคือความยืดหยุ่นและความโปร่งใส นิยมใช้ในงานเป็นถุงพลาสติก ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ ขวดและภาชนะต่างๆ หรือเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) ที่มีความแข็งแกร่งและทนทานต่อสารเคมี ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ท่อ ขวด ของเล่น ไม้แปรรูปพลาสติก และส่วนประกอบของอุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิด
นอกจากนี้ โพลีเอทิลีนยังถูกนำมาใช้งานในวัสดุก่อสร้างต่างๆ ด้วย เช่น ท่อประปา ฉนวนกันความร้อน อ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ ฉนวนของสายเคเบิลและสายไฟ แผ่นรองใต้วัสดุปูพื้น รวมไปถึงเป็นส่วนประกอบหลักของแผงอลูมิเนียมคอมโพสิต ที่อยู่ระหว่างแผ่นอลูมิเนียมสองชั้น ซึ่งจากวัสดุหลักที่เป็นโพลิเมอร์เทอร์โมพลาสติก ที่มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่น และทนทานต่อสารเคมี จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับการใช้งานเป็นวัสดุแกนกลาง ด้วยความหนาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีอิทธิพลต่อปัจจัยต่างๆ เช่น น้ำหนัก ความแข็งแรง และคุณสมบัติฉนวนของแผง ที่ส่งผลให้แผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิตมีน้ำหนักเบา ช่วยให้ติดตั้งและขนส่งได้ง่าย ลดต้นทุนแรงงานและระยะเวลาก่อสร้าง ที่สำคัญคือช่วยให้ตัวแผ่นมีความยืดหยุ่น ทำให้สามารถตัด บิด หัก ดัดโค้ง และขึ้นรูปได้อย่างอิสระ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว แผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิตชนิดนี้ เหมาะสำหรับงานหุ้มป้าย ฉากกั้น (Partition) งานตกแต่งภายใน และงานติดตั้งเป็นวัสดุปิดผิวอาคาร
ประกบ ‘แกนกันไฟ’ เพื่อเสริมความปลอดภัย
แกนกลางสารหน่วงไฟ (FR) เป็นส่วนประกอบพิเศษภายในแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิต ที่ออกแบบมาเพื่อลดการติดไฟของวัสดุและชะลอการแพร่กระจายของเปลวไฟ โดยทั่วไปแกนนี้ประกอบด้วยสารเติมแต่งที่มีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบร่วมกับวัสดุทนไฟอื่นๆ ที่รวมเข้ากับวัสดุแกนกลางมาตรฐาน เช่น โพลิเอทิลีน (PE) ทำให้ได้วัสดุที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยจากอัคคีภัยที่สูงขึ้น เหมาะสมสำหรับการติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ของอาคารสาธารณะ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้งานอาคาร มีเวลาในการอพยพและควบคุมสถานการณ์ ซึ่งแกนกลางลักษณะนี้ยังคงรักษามาตรฐานด้านน้ำหนักที่เบาของแผ่น ACP ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในอาคาร หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านการเกิดอัคคีภัย โดยที่ไม่ลดถอนความอิสระในการออกแบบลงเลย
โดยวัสดุที่มักถูกใช้เป็นแกนทนไฟในแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิตมีอยู่หลากหลายชนิด ตัวอย่างเช่น แกนแร่ (Mineral-Filled Core) ที่ผลิตขึ้นโดยการใส่ตัวเติมแร่ธาตุ เช่น แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์หรืออลูมิเนียมไตรไฮเดรตผสมเข้าไปในวัสดุแกนกลาง หรือแกนโพลีเอทิลีนที่ทนไฟ (FR PE) ซึ่งเป็นการใช้สารเติมแต่งลงไปผสมกับโพลีเอทิลีน ซึ่งช่วยลดการติดไฟและชะลอการลุกลามของไฟ ซึ่งสิ่งสำคัญในการเลือกวัสดุสำหรับการทนไฟ ก็คือมาตรฐานความปลอดภัยจากอัคคีภัยที่จำเป็น วัตถุประสงค์การใช้งาน งบประมาณ และผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อมั่นใจว่าตัวแผ่นได้รับการทดสอบ และรับรองอย่างถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างเช่น ACP จากแบรนด์ FAMELINE มีมาตรฐานความปลอดภัยจากอัคคีภัย ในระดับคลาส B1 ซึ่งหมายถึงการจำแนกประเภทสารหน่วงไฟ ที่บ่งชี้ถึงการทนไฟในระดับสูงสำหรับวัสดุก่อสร้าง ซึ่งผ่านการทดสอบการลามไฟ มีคุณสมบัติที่จำกัดการลุกลามของไฟ และลดความสามารถในการติดไฟ รวมไปถึงการแพร่กระจายของเปลวไฟ อัตราการปล่อยความร้อน การเกิดควัน และลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ซึ่งก็ต้องถูกพิจารณาร่วมกับส่วนประกอบแผงโดยรวม วิธีการติดตั้ง และการปฏิบัติตามข้อบังคับในการผลิตอย่างเคร่งครัด
คุณสมบัติที่แตกต่างและการใช้งาน
แม้ว่าทั้งแกนกลาง PE และ FR ต่างก็มีข้อดีเฉพาะตัว แต่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับคุณสมบัติและการใช้งานที่ต้องการนั้นเป็นสิ่งจำเป็น อย่างแกนกลาง PE ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานเป็นวัสดุปิดผิวอาคารที่ต้องการความยืดหยุ่นในการออกแบบ เหมาะสมสำหรับประเภทอาคารและการใช้งานที่หลากหลาย เน้นที่ความสวยงามและความคล่องตัวในการออกแบบ เช่น อาคารพาณิชย์ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน อาคารอยู่อาศัย โรงแรม ร้านอาหาร สถาบันการศึกษา และยังเหมาะสมกับงานปรับปรุงต่อเติม เนื่องจากน้ำหนักที่บาและความอเนกประสงค์ของตัวแผ่น ทำให้สามารถออกแบบสภาพแวดล้อมที่น่าดึงดูด และกระตุ้นให้เกิดการจดจำจากรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความโดดเด่น
ส่วนแกนกลาง FR นั้น โดดเด่นในเรื่องการทนไฟ จึงเหมาะสมกับการเป็นวัสดุห่อหุ้มอาคาร ที่มาพร้อมโครงสร้างขนาดใหญ่ เป็นอาคารสาธารณะที่มีผู้ใช้งานอาคารเป็นจำนวนมาก หรืออาคารที่ต้องมีกฎเกณฑ์ความปลอดภัยจากอัคคีภัยที่เข้มงวด เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับองค์ประกอบภายในอาคาร เช่น อาคารสูง สถานพยาบาล สถาบันการศึกษา อาคารของหน่วยงานรัฐ อาคารผู้โดยสารสนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง อาคารอุตสาหกรรม อาคารประวัติศาสตร์หรืออาคารอนุรักษ์ เป็นต้น
ในโลกของสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างที่ถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง การเลือกวัสดุแกนหลักสำหรับแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิต เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการใช้งานทั้งด้านความสวยงาม อิสระในการออกแบบ การพิจารณาด้านความปลอดภัย และข้อกำหนดที่ชัดเจนของกฎหมายอาคาร ซึ่งการทำความเข้าใจคุณลักษณะที่แตกต่างกัน ในบางครั้งอาจต้องมีการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือศึกษาจากมาตรฐานการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของแต่ละโครงการ ส่งผลให้ผลงานสถาปัตยกรรมมีทั้งองค์ประกอบของความสวยงามน่าดึงดูดใจ และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์