23.10_PHL-01_Acoustic-Ceiling_Banner_Web-02

ทำไม ‘ฝ้าเพดาน’ จึงมีบทบาทสำคัญ ในการเพิ่มคุณภาพของเสียงภายในอาคาร

เมื่อเราต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบภายในอาคาร ที่มีส่วนช่วยในการใช้งานและสร้างความสวยงาม เราก็มักจะนึกถึงการออกแบบผนัง พื้น และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ซึ่งอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน สร้างสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบายและน่าพึงพอใจ ก็คือพื้นที่ของ ‘ฝ้าเพดาน’ ซึ่งหนึ่งในปัญหาหลักของการทำงานในปัจจุบัน ก็คือการต้องเผชิญกับมลภาวะทางเสียง ที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว ตั้งแต่เสียงการจราจรและผู้คนที่สัญจรไปมาบนถนน เสียงพูดคุยกันในพื้นที่สำนักงาน หรือเสียงที่ดังก้องจนเกินไป จนทำให้คุณภาพทางการสื่อสารนั้นลดลง ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาแบบเห็นหน้า โทรศัพท์ หรือการประชุมทางออนไลน์

มลพิษทางเสียงที่เริ่มเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความเป็นอยู่และประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมอย่างแน่นอน เสียงที่ดังรบกวนทำให้เสียสมาธิได้มาก โดยมีงานวิจัยระบุว่าเสียงรบกวนสามารถขัดขวางการประมวลผลข้อมูลและความจำในการทำงาน มีความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดข้อผิดพลาด เพิ่มความตึงเครียดและความเหนื่อยล้าให้กับคนทำงาน หรืออาจทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นในการทำงาน ซึ่งนั่นคือจุดที่ฝ้าเพดานเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ ในการช่วยสร้างคุณภาพของเสียงให้ดียิ่งขึ้น เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการทำงาน และการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ

ทำความเข้าใจลักษณะของเสียงในอาคาร

ในบริบทที่ซับซ้อนของสถาปัตยกรรมและการออกแบบ เสียงนั้นมีบทบาทที่เงียบแต่ก็ทรงพลัง การเคลื่อนไหวของเสียงภายในอาคาร สามารถมีอิทธิพลอย่างมากต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งาน เมื่อเราเข้าใจลักษณะต่างๆ ของเสียงแล้ว ก็จะสามารถออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ให้กลมกลืนไปกับเสียงได้ ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่า ‘เสียง’ เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่เป็นไปตามกฎแห่งฟิสิกส์ เมื่อเสียงถูกสร้างขึ้น มันจะแผ่ออกไปรอบทิศทางเป็นลักษณะของคลื่น และเมื่อกระทบกับวัตถุหรือพื้นผิวต่างๆ ภายในอาคาร การเดินทางของพวกมันจึงถูกกำหนดให้มีการสะท้อน การดูดซับ การส่งผ่าน และการเลี้ยวเบน

จากลักษณะของเสียงที่ออกจากแหล่งกำเนิด จะกระจายไปในทุกทิศทางคล้ายทรงกลม ตามแต่วัตถุตัวกลางที่ล้อมรอบแหล่งกำเนิดเสียงนั้น ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว มลภาวะทางเสียงจะมาจากการสะท้อนของเสียง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคลื่นเสียงพบกับพื้นผิวที่แข็งและเรียบ เช่น ผนัง เพดาน และพื้น ทำให้คลื่นเสียงมีการสะท้อนกลับ จนเกิดเป็นเสียงสะท้อนและเสียงก้องกังวาน ส่วนการส่งผ่านของเสียง เกิดจากการที่เสียงเดินทางผ่านโครงสร้างอาคาร ซึ่งความเข้มข้นของเสียงที่ถูกส่งผ่านออกไปนั้น ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นและความหนาของชั้นวัสดุ

ตัวอย่างเช่น ผนังคอนกรีตหนามีประสิทธิภาพในการปิดกั้นการส่งผ่านเสียง ทำให้เหมาะสำหรับการกันเสียงในพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว อย่างผนังห้องนอนหรือสำนักงาน ส่วนการเลี้ยวเบนของเสียง เกิดจากคลื่นเสียงที่สามารถโค้งงอและแพร่กระจายไปรอบๆ สิ่งกีดขวางได้ เหมือนกับการที่เราได้ยินเสียงของใครบางคนได้ แม้ว่าจะมองไม่เห็นต้นกำเนิดของเสียงก็ตาม

ส่วนคุณสมบัติที่ช่วยทำให้การส่งผ่านของเสียงมีคุณภาพมากขึ้น ก็คือการดูดซึมของเสียง ซึ่งวัสดุภายในอาคาร เช่น ผ้าม่าน พรม และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ล้วนมีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงที่แตกต่างกันไป จึงมีการใช้งานวัสดุอะคูสติกที่ทำงานร่วมกับการออกแบบภายใน เพื่อจำกัดการเคลื่อนที่ของเสียงให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ตัวอย่างเช่น คอนเสิร์ตฮอลล์จำเป็นต้องให้เสียงมีคุณภาพที่ยอดเยี่ยมและชัดเจน ส่วนพื้นที่ในห้องสมุดก็ต้องการให้มีเสียงรบกวนและเสียงก้องให้น้อยที่สุด

บทบาทสำคัญของระบบฝ้าอะคูสติก

วัสดุอะคูสติกมักถูกมองว่ามีประสิทธิภาพสูงสำหรับงานฝ้าเพดาน เนื่องจากมีความสามารถในการรับมือกับการเคลื่อนที่ของเสียงในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการที่เสียงเคลื่อนที่เป็นทรงกลมสู่ด้านบน เมื่อเสียงถูกส่งออกมาภายในห้อง ฝ้าเพดานเป็นตำแหน่งที่รับเสียงได้จากทุกทิศทาง ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่เสียงจะถูกดูดซับ ก่อนที่จะสะท้อนกลับมาที่ผนังหรือพื้นที่ด้านล่าง เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมภายในอาคารที่เหมาะสมต่อการสื่อสาร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ‘วัสดุฝ้าดูดซับเสียง’ ที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อลดเสียงสะท้อนและเสียงก้องของพื้นที่ภายใน รวมถึงการลดเสียงรบกวนจากพื้นที่ด้านข้าง และสามารถช่วยลดการส่งผ่านของเสียง ระหว่างช่องว่างบริเวณโครงสร้างเพดานด้านบน เพื่อเพิ่มความชัดเจนในการสื่อสาร ในบริเวณพื้นที่ภายในห้องเรียน สำนักงาน ห้องสัมมนา และห้องประชุม

ซึ่งปัจจุบันวัสดุฝ้าอะคูสติก มีคุณสมบัติเฉพาะตัวและข้อดี ในการปรับปรุงคุณภาพเสียงภายในอาคารอยู่หลากหลายประเภท เช่น แผ่นอลูมิเนียม แผ่นฝ้าไฟเบอร์กลาส แผ่นฝ้าเพดานไม้ แผ่นผ้ากันเสียง แผ่นยิปซั่ม ขึ้นอยู่กับรูปทรง ขนาด และพื้นผิวที่ต้องการ เพื่อตอบโจทย์ด้านความสวยงาม ความทนทาน และข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ววัสดุประเภทนี้จะมีค่าสัมประสิทธิ์การลดเสียงรบกวน หรือ NRC (Noise Reduction Coefficient) เพื่อบ่งบอกว่ามีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงภายในห้องได้มากน้อยเพียงใด

ตัวอย่างเช่น แผงอะคูสติกที่มีค่า NRC เท่ากับ 0.70 หมายความว่าจะสามารถดูดซับเสียงได้สูงสุดถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากค่า NRC ยิ่งสูง ตัววัสดุก็จะสามารถทำหน้าที่ดูดซับเสียงได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งวัสดุในกลุ่ม ฝ้าอะคูสติก (Acoustic Ceiling) จาก FAMELINE หรือ ฝ้าอลูมิเนียมแบบแผ่น ที่มีให้เลือกทั้งแบบแผ่นเรียบ และแผ่นแบบเจาะรู มีค่า NRC สูงสุดอยู่ที่ 0.8 ทำให้มีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงที่ดี ตัวแผ่นมีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับโครงการก่อสร้างใหม่และการปรับปรุงอาคารเดิม ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้างได้ มีความปลอดภัยจากอัคคีภัย เนื่องจากผลิตด้วยวัสดุอลูมิเนียมคุณภาพสูง ซึ่งสามารถทนไฟ และชะลอการแพร่กระจายของไฟภายในอาคาร สามารถเปิด-ปิดแผ่นฝ้า เพื่อขึ้นไปซ่อมบำรุงงานระบบด้านบนได้ เหมาะสมกับการใช้งานเป็นฝ้าภายในห้องประชุม ห้องโถง ห้องสัมมนา ในอาคารสำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือสนามบิน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า