Architectural Design Trends 2024′ ความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในเมืองอัจฉริยะ
โลกแห่งสถาปัตยกรรมมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแนวโน้มของเทรนด์ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2024 ยังคงต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นของผู้คน การพัฒนาทางเทคโนโลยีสำหรับที่อยู่อาศัย การออกแบบพื้นที่เฉพาะซึ่งสามารถใช้งานได้ร่วมกันได้ทุกเพศทุกวัย โดยขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ผ่านองค์ประกอบของวัสดุที่คงทนและรีไซเคิลได้ พลังงานทดแทน การบริโภคอย่างมีสติ และความปลอดภัยต่อสุขภาวะในการใช้ชีวิต เพื่อความเป็นอยู่ทีดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสื่อสารผ่านการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม ที่เป็นเครื่องสะท้อนต่อกระแสของสังคมได้อยู่เสมอ
ซึ่งการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ถึงปัจจัยที่จะขับเคลื่อนแนวโน้มเหล่านี้ รวมไปถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อย่างการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ที่สามารถออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรืออาคารขนาดเล็กได้ การสร้างความจริงเสมือน (Augmented Reality) ที่เปิดโอกาสให้สถาปนิกได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆ ในงานออกแบบ เพื่อใช้ให้เห็นภาพว่าอาคารจะมีลักษณะอย่างไรก่อนที่จะถูกสร้างขึ้นจริง ส่วนประเด็นหลักของสังคมในวงกว้างอย่างข้อกังวลด้านความยั่งยืน มุ่งเน้นความมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมองหาวิธีการประหยัดพลังงานให้มากขึ้น โดยการใช้งานที่คุ้มค่าที่สุด ผ่านการพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ หรือระบบเก็บเกี่ยวน้ำฝน และประเด็นเรื่องความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม
ซึ่งก่อนหน้านี้ การออกแบบสถาปัตยกรรมนั้นจะสะท้อนเรื่องการใช้งานเป็นหลัก แต่ในปี 2024 เราจะเห็นอาคารที่ออกแบบมา เพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะผสมผสานกันไปอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น
เมืองอัจฉริยะจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่เดิม
‘บ้านอัจฉริยะ’ กำลังกลายเป็นเรื่องที่ธรรมดามากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ อย่างระบบการสั่งงานด้วยเสียง ระบบไฟอัตโนมัติ หรือระบบควบคุมอุณหภูมิภายในบ้าน ที่สถาปนิกสามารถเลือกใช้เพื่อตอบโจทย์เรื่องของความสะดวกสบาย ประหยัดพลังงาน และความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้น ส่วนในระดับของเมืองที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ก็ต้องมีระบบในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ มากขึ้น เช่น การจราจรที่แออัด มลภาวะ และการใช้ทรัพยากร ซึ่งเป้าหมายของ ‘เมืองอัจฉริยะ’ คือ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ซึ่งมักประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ เช่น การบูรณาการเทคโนโลยีกับโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ระบบขนส่ง โครงข่ายพลังงาน น้ำประปา ระบบรักษาความปลอดภัย และการจัดการขยะ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อเชื่อมต่อ จัดการ รวบรวมและวิเคราะห์ เพื่อการตัดสินใจนำข้อมูลมาใช้ในพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งการพัฒนาคุณภาพของเมือง ก็ต้องเกิดจากองค์ประกอบของอาคาร ที่อยู่อาศัย เส้นทางสัญจร และพื้นที่สาธารณะ ที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างมีระบบ ซึ่งในบางครั้งอาจเป็นการบูรณะอาคารที่ถูกทิ้งร้าง หรือการปรับเปลี่ยนการใช้งานของอาคารเดิม เช่น การปรับเปลี่ยนโรงงาน โกดัง และโบสถ์ที่ถูกทิ้งร้าง ให้เป็นพื้นที่พักอาศัย สำนักงาน หรือศูนย์วัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งเป็นการรักษารูปแบบทางประวัติศาสตร์ ลดปริมาณขยะ และส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ทำให้เกิดเป็นงานออกแบบที่ท้าทายสำหรับสถาปนิกยุคใหม่ จากปัญหาเรื่องทรัพยากรในโลกที่มีจำกัด ความต้องการในการลดระดับมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม จากขั้นตอนของการก่อสร้างใหม่ และเป็นการการอนุรักษ์คุณค่าทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของเมือง
โดยรูปแบบของ ‘อาคารอัจฉริยะ’ มักมีการใช้ระบบอัตโนมัติ ในการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่างๆ ของอาคาร โดยมีเป้าหมายในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ผ่านแนวคิดของความยั่งยืน และเสริมสร้างประสบการณ์ในการใช้งานที่ดี ผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์ ระบบแสงสว่างที่เหมาะสม ระบบการทำความร้อน ระบบการระบายอากาศ และระบบรักษาความปลอดภัย ที่ต้องทำงานร่วมกันพื่อจัดการกับสภาพแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดทั้งปี
ตัวอย่างเช่น แผงกันแดดอลูมิเนียมอัจฉริยะ ที่สามารถปรับองศาของแผ่น ให้อยู่ในมุมมองที่เหมาะสมได้ตามการใช้งาน ช่วยลดปริมาณแสงแดด ช่วยควบคุมอุณหภูมิ และปริมาณแสงสว่างจากภายนอกสู่ภายในอาคาร ผ่านอุปกรณ์ควบคุมทางแอพพลิเคชั่นในมือถือ หรือสั่งงานด้วยระบบเสียง เพิ่มความสะดวกสบายในด้านการใช้งาน ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติที่ผสมผสานกับวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างอลูมิเนียม ทำให้เป็นการใช้พลังงานที่มีความคุ้มค่า และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมของเมืองโดยรวม
มุ่งสู่ความเขียว ผ่านการเรียนรู้จากธรรมชาติ
อาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Energy Buildings) เป็นมาตรฐานใหม่ ที่สะท้อนจุดมุ่งหมายของสังคม ผ่านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอาคาร เพื่อปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องใช้การออกแบบให้มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างคุ้มค่า การระบายอากาศตามธรรมชาติ และการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการออกแบบเพื่อใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากที่สุด โดยการใช้พื้นที่สีเขียวทั้งในแนวตั้งและแนวนอน การใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุธรรมชาติในการตกแต่งและการก่อสร้าง ไปจนถึงการปรับปรุงกระบวนการผลิตผ่านการเทคโนโลยี วัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ซึ่งการออกแบบสถาปัตยกรรม ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเลียนแบบลักษณะทางชีวภาพ โดยผสมผสานธรรมชาติให้เข้ากับพื้นที่ต่างๆ เช่น ผนังสวนแนวตั้งในที่อยู่อาศัย หลังคาสีเขียวในพื้นที่สำนักงาน หรือสวนในร่ม เพื่อใช้งานรูปแบบ กระบวนการ และระบบตามธรรมชาติ ให้อยู่ร่วมกับลักษณะการใช้ชีวิตในอาคาร เนื่องจากวิวัฒนาการของธรรมชาตินั้น มีพัฒนาการมานานหลายพันล้านปี ซึ่งช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่สามารถปรับสมดุลของคุณภาพอากาศ ลดความตึงเครียด และเพิ่มผลผลิตในการทำงานได้ดี เกิดความรู้สึกที่เงียบสงบท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่กำลังวุ่นวาย โดยองค์ประกอบของอาคารที่สัมผัสกับพื้นที่กลางแจ้ง อย่างระเบียง เฉลียง ดาดฟ้า และลานบ้าน อาจมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้คน ความรู้สึกผ่อนคลายจากบรรยากาศภายนอก และการเชื่อมโยงกับธรรมชาติให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยออกแบบร่วมกับการเลือกใช้วัสดุตกแต่ง ที่มีลวดลายแบบวัสดุธรรมชาติ ซึ่งเป็นการลดปัญหาจากวัสดุธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว
กระชับการก่อสร้าง สู่ความเป็นอยู่ที่ดี
การเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีเป็นปัจจัยหลักที่ผู้คนมองหาอยู่เสมอ โดยในระยะหลังเราจะเห็นอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยเติมเต็มคุณภาพการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น เช่น ระบบกรองอากาศที่ช่วยปรับระดับคาร์บอนไดออกไซด์ภายในบ้าน อุปกรณ์ที่ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ก๊อกน้ำและสุขภัณฑ์อัจฉริยะแบบไร้การสัมผัส หรือหลอดไฟอัตโนมัติที่ช่วยสร้างบรรยากาศของพื้นที่ภายใน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกพัฒนาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้ใช้งานร่วมกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ทำให้พื้นที่แต่ละส่วน ตอบโจทย์ต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น ทั้งในด้านการผ่อนคลาย โฟกัสกับการทำงาน และเพื่อสุขภาพที่ดี ซึ่งแสดงออกผ่านพื้นที่ที่อเนกประสงค์มากขึ้น มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวได้ง่ายเพื่อผู้ใช้งานที่หลากหลาย เช่น ห้องประชุมที่สามารถกลายเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันได้ พื้นที่ค้าปลีกที่สามารถเปลี่ยนเป็นแกลเลอรีแบบป๊อปอัปได้ หรือการออกแบบพื้นที่ทำงานที่ผสมผสานไปกับธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา
ซึ่งระบบการออกแบบและก่อสร้างในยุคนี้ ต้องคำนึงถึงความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสื่อสารภาพรวมของงานในทิศทางเดียวกัน โดยมีการใช้ระบบ Building Information Modelling หรือ BIM มาเป็นกระบวนการสำหรับการสร้างและจัดการข้อมูลสำหรับโครงการก่อสร้าง ผ่านการระบบแบบจำลองเสมือนของอาคารที่มีรายละเอียดแม่นยำ สามารถนำมาใช้เป็นแบบก่อสร้าง คำนวณโครงสร้าง วางแผนงานระบบ ประมาณราคา การไหลเวียนของอากาศภายในอาคาร คำนวนค่าการประหยัดพลังงาน รวมไปถึงขั้นตอนการจัดซื้อ และมีการอัพเดทขั้นตอนของโครงการก่อสร้างได้ตลอดเวลา เพื่อลดข้อผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งวัสดุที่ตอบรับกับการก่อสร้างในอนาคต ก็ต้องเป็นลักษณะแบบโมดูลาร์ หรือการสร้างโมดูลแบบสำเร็จรูปจากโรงงาน และนำไปประกอบที่ไซต์งาน ซึ่งแนวทางนี้ทำให้สามารถผลิตวัสดุที่ใช้งานได้ตามความต้องการที่แท้จริง ลดการเกิดขยะเหลือใช้ที่หน้างานก่อสร้าง ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนในการขนส่ง ช่วยควบคุมคุณภาพของวัสดุให้ได้มาตรฐานพร้อมใช้งาน ทำให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแสดงออกถึงความตั้งใจในการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับโลกใบนี้ต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก:
Architectural Design Trends to Look Out for in 2024 | Design Ideas for the Built World
Modern Architectural Design Trends 2023-2024 – Hackrea
Architectural Trends to Look Out for in 2024 | Architects Workshop
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง